Tag Archives: คนชายขอบ

“13 เกมสยอง” จากการ์ตูนสู่แผ่นฟิล์ม *

8 Feb

“13 เกมสยอง” จากการ์ตูนสู่แผ่นฟิล์ม

               2010_07_13_200238_5r0f20ap

โดย ศิรตะวัน ทหารแกล้ว
Siratawan Thahanklaew

ในปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อ (Media) มีอำนาจและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เนื่องจาก สื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและสื่อภาพยนตร์ก็เป็นสื่ออีกแขนงหนึ่งที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยทำหน้าที่มอบสาระและความบันเทิงแก่ผู้เสพอย่างรอบด้าน  ซึ่งขณะนี้ได้มีการแปรรูปวรรณกรรมจากวรรณกรรมต้นฉบับสู่แผ่นฟิล์มมากขึ้น เช่นการแปรรูปจากนวนิยาย เรื่องสั้น หรือแม้แต่การ์ตูนซึ่งเป็นงานเขียนที่ไม่จำกัดอายุและครองใจผู้อ่านหลายวัยที่ไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศหรือวัยใดก็สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้ทุกเมื่อ การแปรรูปจากการ์ตูนมาสู่ภาพยนตร์ได้รับความนิยมมากในวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ หากลองลำดับดูจะพบว่าเรื่องราวยอดมนุษย์ทั้งหลาย เช่น ซูเปอร์แมน แบตแมน สไปเดอร์แมนล้วนแต่ก่อกำเนิดมาจากน้ำหมึกและลายเส้นทั้งสิ้น ซึ่งการแปรรูปวรรณกรรมแต่ละครั้งเราจะพบความแตกต่าง พัฒนาการตลอดจนกลวิธีเล่าเรื่องรูปแบบใหม่และเทคนิคที่หลากหลายมากขึ้น ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนมีความสนใจการ์ตูนเรื่อง The 13 Quiz Show ซึ่งเป็นการ์ตูนตอนหนึ่งจากงานเขียนรวมเรื่องสั้นจิตหลุด ( My Mania) ของ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ที่มีความยาวเพียง 55 หน้า การ์ตูนของเอกสิทธิ์ มีความโดดเด่นในเนื้อหาที่เขาต้องการนำเสนอ มีการใช้สัญลักษณ์ (Symbol) และแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเฉียบขาด คมคาย รวมถึงมักมีตอนจบแบบหักมุม (twisted ending) อย่างคาดไม่ถึง จากเนื้อเรื่องที่มีมิติจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เรื่อง“13 เกมสยอง”โดยผู้กำกับมือดีชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลจับมือกับเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ในการเขียนบท ดังนั้นจึงเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจซึ่งสามารถขยายความคิดหลักให้แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป ดูแล้วไม่น่าเบื่อ กลับมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น สิ่งที่เสริมขึ้นมาล้วนแต่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงสนใจที่จะศึกษาเปรียบเทียบผลงานเรื่องนี้ เพราะในสายตาผู้เขียนทั้งวรรณกรรมต้นฉบับ และวรรณกรรมแปรรูปต่างก็มีความน่าสนใจ กระจ่าง ชัด มีที่มาที่ไป ตลอดจนให้อารมณ์ ความรู้สึก แสดงทรรศนะของเรื่อง และสะท้อนสังคมได้อย่างเข้าถึงแก่นทีเดียว

การแปรรูปวรรณกรรมก่อให้เกิดการตีความใหม่อันเป็นเหตุให้มีความแตกต่างจากวรรณกรรมต้นฉบับ เหตุผลที่เนื้อหาบางส่วนเหมือนเดิมและบางส่วนแตกต่างกัน ต้องพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมต้นฉบับซึ่งเป็นการ์ตูนเสียก่อน เพราะการ์ตูนนั้นนำเสนอเรื่องราวโดยมีพื้นที่จำกัด ผู้เขียนต้องจัดสรรพื้นที่หน้ากระดาษให้พอดี แบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน ทั้งเรื่องราวต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็วและตรงประเด็น หากผู้เขียนต้องการนำเสนอแนวคิดใดๆ ควรมีรูปแบบที่กระชับ ไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียด และที่ลืมไปมิได้ก็คือ การ์ตูนที่ดีควรมีความสมดุลทั้งด้านเนื้อหาและภาพประกอบ ในภาพยนตร์เรื่อง 13 เกมสยองนี้มีการแปรรูปเสียรอบด้าน ทั้งการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ ตัดเนื้อหาบางส่วนทิ้ง เปลี่ยนแปลง ย่อ ย้าย ทำให้สัดส่วนต่างๆ ของเนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างชัดเจนขึ้น หรือแม้แต่ขยายแนวคิดหลักให้งอกงามจนเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสมบูรณ์ น่าสนใจ เข้มข้น ตลอดจนชวนให้ติดตามมากขึ้น และไม่ละทิ้งเจตนารมณ์ของต้นฉบับซึ่งเป็นเสน่ห์ของเรื่องแต่อย่างใด ดังตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของเนื้อหาสำคัญซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของเรื่อง

1-vert

จากตารางดังกล่าวจะเห็นข้อแตกต่างในเนื้อหาของวรรณกรรมต้นฉบับและวรรณกรรมแปรรูป นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสำคัญอีกมากมายนอกจากเกมทั้ง 13 ข้อ ที่ถือเป็นจุดสำคัญของเรื่อง                          การเปิดเรื่องก็มีความแตกต่างกันกล่าวคือ ในวรรณกรรมต้นฉบับการเปิดเรื่องใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับไปมา (Flashback) แต่ในวรรณกรรมแปรรูปมีกลวิธีเล่าเรื่องตามปฏิทิน คือตัวละครค่อยๆ พาเราไปสัมผัสโลกของเขาที่ละนิด ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เกมทั้ง13 ข้ออย่างเต็มรูปแบบ มีการเปิดเผยความรู้สึก หรือจิตสำนึกของตัวละคร (Self – Revelation) ทำให้เรารู้สภาวะในจิตใจของตัวละครอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราจะทราบเรื่องราวต่างๆผ่านมุมมองของตัวละครเอกนามว่า ภูชิต พึ่งนาทอง ที่รับบทโดย กฤษดา สุโกศล (น้อยวงพรู) ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ครั้งที่16 ประจำปี 2549 เป็นนักแสดงที่เหมาะกับบทภูชิตที่สุดเพราะตัวละคร (Character) จะมีความเป็นอื่นสูงมาก คือเป็นตัวละครลูกครึ่ง ไม่ใช่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และยังเป็นคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง ความเป็นอื่นที่ถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ตัวละครมีความลึกมากขึ้นและเป็นสิ่งอธิบายบุคลิกรวมถึงการกระทำของภูชิตได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นตัวละครที่ประกอบสร้างในลักษณะที่เป็นคนประหม่า ไม่มั่นใจในตนเอง ขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ดูซื่อๆ ยึดถือจริยธรรมและไร้ปากเสียงในสังคม เรียกได้ว่า ตัวละครภูชิตเป็นตัวแทนของคนเล็กคนน้อย หรือคนชายขอบของสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นคนที่ถูกสังคมมองข้าม และละเว้นจากการมีตัวตนอยู่เสมอ ในวรรณกรรมต้นฉบับจะมีการใช้สัญลักษณ์ (Symbol) ที่สำคัญคือ แมลงวัน แทบจะตลอดเรื่องเรียกว่ามีลักษณะเป็นอนุภาค (motif) โดยตัวละครพยายามเอาชนะเกมและจัดการกับสถานการณ์รอบตัวให้ได้ ก่อให้เกิดคำถามที่ว่าคนตัวเล็กๆเพียงคนเดียวซึ่งไร้อำนาจพิเศษใดๆ จะสามารถเอาชนะสังคมได้หรือไม่หรือต้องถูกเหยียบย่ำและตายไปอย่างไร้ศักดิ์ศรีเฉกเช่นแมลงวันที่ไร้ค่าตัวหนึ่ง แต่ในวรรณกรรมแปรรูปจะไม่ค่อยเน้นเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่จะเน้นถ่ายทอดความไร้สิทธิ์ ไร้เสียงและการต่อสู้กับสังคมผ่านการเล่นเกมทั้ง13 ข้อของภูชิตซึ่งถือเป็นความฉลาดของตัวบทภาพยนตร์ที่แสดงออกมาอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา(Background) ของตัวละครมากมายเช่น อาชีพของภูชิตในวรรณกรรมต้นฉบับจะบอกว่าเป็นเซลล์แมนแต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดมาก แต่ในภาพยนตร์ ภูชิตเป็นเซลล์ในบริษัทขายเครื่องดนตรีซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบจากคู่แข่งและเพิ่งโดนไล่ออกสดๆ ร้อนๆ ประกอบกับแม่ที่โทรศัพท์มาหาภูชิตเพื่อขอยืมเงินไปให้น้องสาวลงทะเบียนเรียน เนื่องจากน้องสาวเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือหมดแล้ว แถมรถของภูชิตก็เพิ่งโดนยึด เขาต้องโหนรถเมล์ไปทำงานแทนที่จะขับรถสบายๆ และแฟนสาวที่เขามีอยู่ก็กลายเป็นนักร้องดังแล้วทิ้งเขาไปเพียงเพราะเขาไม่มีเงิน สิ่งเหล่านี้กดดันภูชิตมาก ไม่มีความรู้สึกไหนจะยิ่งใหญ่และครอบงำมนุษย์ได้มากกว่า ความรู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ภูชิตเลือกเล่นเกมทั้ง 13 ข้อ คนที่ไม่มีอะไรต้องเสียจะมีสิ่งใดต้องกลัว เมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสที่มีราคาถึงร้อยล้านมาให้ โอกาสที่จะทำให้ปัญหาของเขาหมดสิ้นไป เพียงการตัดสินใจเล่นเกมนี้เท่านั้น

game5

ในภาพยนตร์จะชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงอำนาจเงินที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ เกมแต่ละข้อนั้นมีเครื่องล่อใจคือจำนวนเงินที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคนสิ้นหวังอย่างภูชิตก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงินเพราะไม่อยากกลับไปเจอชีวิตแบบเก่า หากเขามีเงิน เขาจะได้เริ่มชีวิตใหม่  สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้โลกวัตถุนิยมจากสายตาของตัวละครมากขึ้น ทุกวันนี้คนเราสร้างเงื่อนไขให้กับชีวิตมากจนเกินไปคือต้องมีเงินทอง มีชื่อเสียง มีสิ่งอำนวยความสะดวก ชีวิตจึงจะสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเราเอาตัวตนไปผูกไว้กับวัตถุ เมื่อวัตถุหมดไป เราจะไร้สิ่งยึดเหนี่ยวและไม่สามารถศรัทธาสิ่งใดได้เลยแม้แต่ตัวตนของเราเอง สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือสายตาของคนอื่นที่มองเราอย่างประเมินค่า และนั่นคืออีกประเด็นหนึ่งที่ในภาพยนตร์แสดงภาพให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะฉากที่ตัวละครภูชิตต้องรับประทานอุจจาระในภัตตาคารหรู เขาเลือกทิ้งศักดิ์ศรีของตัวเอง เพราะศักดิ์ศรีไม่ได้มีราคา 500,000 บาท และยังเหลือเกมอีก 8 ข้อที่เขาต้องสะสางให้สำเร็จ ทีแรกนั้นตัวละครภูชิตเป็นเพียงตัวละครที่ราบเรียบอย่างที่สุดคือดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์กินเงินเดือนทั่วไป มีรูปแบบชีวิตที่ซ้ำซากไม่ต่างอะไรกับ ชิงช้าสวรรค์ที่เคลื่อนที่ไปตามวัฏจักรของมันอย่างไม่หยุดหย่อน แต่สิ่งที่อยู่ในใจภูชิตมาโดยตลอดคือกลัวการถูกตัดสินและต้องการเรียกร้องที่ยืนของตนเอง แต่ไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นตัวละครที่ถูกกดอยู่ตลอดเวลา  ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมของสังคม ทำให้ภูชิตต้องเก็บกดความรู้สึกของตัวเองมาโดยตลอด และเกมทั้ง 13 ข้อ ทำให้เขาได้ระเบิดความป่วยภายในจิตใจของตัวเองออกมา  นอกจากเนื้อหาที่เสียดสีสังคมในหลายๆ ด้านทั้งเรื่องโลกวัตถุนิยม ทุนนิยมที่มีอำนาจครอบงำจิตใจของคนแล้ว ในภาพยนตร์ได้ใส่เนื้อหาเพิ่มเติมเข้ามามากมายเช่น ตำรวจเลวและกฎหมายที่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน การเปิดเผยในท้ายเรื่องว่าผู้ที่สร้างเกมเป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งที่มีทรรศนะว่าเงินคือทุกสิ่ง ผู้ที่มีเงินถึงแม้ว่ามือจะเปื้อนเลือดหรือยืนอยู่บนซากศพคนอื่นก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กฎหมายคือสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงินและควบคุมได้ด้วยเงิน โลกของคนที่ยึดหลักศีลธรรม ที่จริงก็ใส่หน้ากากเข้าหากัน และที่น่ากลัวก็คือเราไม่สามารถรู้ว่าหน้ากากจะหลุดออกมาเมื่อไหร่ สำหรับตัวภูชิตเองซึ่งยึดถือศีลธรรมมาตลอดแต่เมื่อเริ่มทำความเลวตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ลงมา เช่น การตีแมลงวันให้ตาย การทำให้เด็กร้องไห้ก็คือการเตรียมจิตใจของเขาให้พร้อมระเบิดและทำให้ตัวละครมีการรับรู้ความจริงที่บิดเบี้ยวไปจากเดิมคือตัวละครจะเริ่มชินกับการทำความเลว เห็นว่าการกระทำของตนเป็นเรื่องปกติ และจะทำเรื่องที่เลวร้ายกว่านี้ได้อย่างไร้เงื่อนไข สำหรับผู้เขียนยอมรับว่าเรื่องนี้มีความน่ากลัวอยู่มากแต่ไม่ใช่น่ากลัวเพราะมีฉากรุนแรง สยดสยองให้เห็นแต่ความน่ากลัวมันอยู่ในจิตใจมนุษย์ซึ่งเมื่อลองคิดตามก็จะเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ราวกับกระจกสะท้อนความเป็นไปในปัจจุบัน ยังมีคนแบบภูชิตอีกมากที่ป่วยแบบไม่รู้ตัว ไม่รู้จักวิธีปลดปล่อย ไม่ได้รับการเยียวยาและถูกเพิกเฉยจากสังคมรอบข้างและในที่สุดก็ระเบิดออกมากลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งตามหนังสือพิมพ์ประจำวัน สิ่งที่สำคัญคือวิธีการคิดของภูชิต การชั่งใจของเขาที่จะกระทำต่อหรือไม่ หากเขาเลิกเล่นเกมเงินทั้งหมดที่สะสมมาก็เป็นศูนย์ เขาจะกลับไปเป็นนายภูชิตคนเดิมที่ไม่มีอะไรเลยและเท่ากับสิ่งที่เขาพยายามมาตั้งแต่แรกสูญเปล่า แค่ 13 ข้อ เขาสามารถยกระดับชีวิตตัวเองไปได้ตลอดกาล เขามีเงินพอที่จะซื้อสิ่งที่เขาใฝ่ฝัน มากพอที่จะให้แม่ ให้น้อง มากพอสำหรับบ้านอันสมบูรณ์แบบสักหลัง และรถคันงามสักคัน ชีวิตที่พลิกผันไปในทางที่ดีขึ้น แต่เขาก็ต้องแลกกับสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ปัญหาการเลื่อยขาเก้าอี้ในที่ทำงานก็ถูกกล่าวถึงในตัวละคร เปรม รุ่นพี่ในที่ทำงานของภูชิตที่แย่งลูกค้ารายใหญ่ของภูชิตไป เมื่อภูชิตไม่ได้ลูกค้ารายนี้ก็ส่งผลให้ยอดขายของเขาไม่เพิ่มขึ้นและถูกไล่ออกจากงานในที่สุด ตัวละครเปรมสื่อให้เห็นความโลภที่คนเราจะทำอะไรก็ได้เพื่อยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและคนที่ต้องลำบากเพราะตน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเท่าใดนักเพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนประเภทนี้อยู่ร่วมสังคมกับเรามากทีเดียว ก่อนที่ภูชิตจะออกไปเล่นเกมข้างนอกเขาได้สะสางความบาดหมางใจ โดยการต่อยหน้าเปรม และเปรมก็รีบไปแจ้งตำรวจ โดยบอกตำรวจว่าตนขอแจ้งข้อหาอะไรก็ได้ที่เรียกเงินเยอะๆ  เมื่อตำรวจตอบว่า การจะฟ้องใครต้องรู้ชื่อและนามสกุลของเขา สิ่งที่เปรมตอบไปก็คือ เขาแต่งตัวเหมือนผม ใส่แว่น และใช้เวลาในการนึกชื่อนานมากจนกระทั่งนึกออกว่าชื่อคู่กรณีของตนนามว่าภูชิตแต่ไม่สามารถนึกนามสกุลได้  ฉากนี้ดูเหมือนจะสร้างความขบขันเล็กๆให้แก่เราแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจกันและกันในสังคม เพราะทุกคนต่างถวิลหาความสุขและผลประโยชน์ส่วนตน ถึงแม้ว่าทั้งสองจะทำงานที่เดียวกัน แต่ไม่มีการสร้างสัมพันธ์ที่ดี มีความเป็นอื่นระหว่างกันอยู่เสมอ ทุกคนหวังแต่ทำงานให้เจ้านายพอใจ ให้ตัวเองได้เงินและจะได้เลื่อนขั้น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของบุคคลอื่น ซึ่งมองเห็นได้ชัดทีเดียวในฉากที่เปรมถูกเพื่อนร่วมงานรุมล้อมและกล่าวยกยอ ปอปั้นเขา เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักและบูชาคนเก่ง แต่มักทอดทิ้งคนดีให้มีความรู้สึกด้อยค่าซึ่งขัดแย้งกับที่เราประกาศว่าสังคมไทยเป็นสังคมของพุทธศาสนา แต่เมื่อมองรอบด้านเราก็เป็นเพียงหนึ่งในพวกพวกมือถือสาก ปากถือศีลดี ที่เอาคำพูดสวยหรูมาบังหน้าเท่านั้น นอกจากตัวละครเปรมที่ถูกเพิ่มเข้ามาจากการแปรรูปวรรณกรรมแล้ว ตัวละคร ตอง ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงที่มาฝึกงานในบริษัทแห่งนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การดำเนินเรื่องมีรสชาติมากขึ้น เพราะเธอเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดภูชิตมากในระดับหนึ่งและสนใจภูชิตมากพอที่จะเป็นห่วงเป็นใยและพยายามดึงเขาออกจากเกมที่กำลังเล่นอยู่ โดยสุดท้ายแล้วตองก็ทำได้เพียงมองในสายตาของคนนอกเท่านั้น ตองเป็นหนึ่งในจำนวนคนทั่วไปที่มีความฝันเป็นของตนเองแต่ไม่มีวันได้ไต่ฝัน ถึงแม้เธอจะมีพรสวรรค์ในการแต่งเพลงและร้องเพลง แต่ก็ไม่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ เธอกล่าวกับภูชิตว่า “เรียนวิทย์คอม แต่จบมาเป็นนักดนตรีเนี่ยนะพี่ ป๋าได้เฆี่ยนตาย”  ภูชิตฟังเธอพูดและจบลงด้วยการตั้งคำถามว่า “เราอยากทำงานอย่างนี้จริงๆ หรือ” ซึ่งนี่ถือเป็นการตั้งคำถามที่ดีมากคำถามหนึ่งว่าสิ่งที่เราเป็น ที่เราทำทุกวันนี้ เราทำเพราะเราอยากทำ หรือเราทำเพราะเราต้องทำกันแน่  เรายังคงวิ่งวนอยู่ในกับดักค่านิยมเก่าๆ เพียงเพราะไม่มีความสามารถที่จะหนีออกมาได้ เราพยายามอ่านหนังสือกันหัวโตเพื่อที่จะสอบเข้าในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่พ่อแม่มองเห็นว่าดี เพื่อเป็นทางผ่านไปสู่บริษัทที่ใหญ่โตมั่นคงซึ่งปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนมากที่ต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมและใช้ชีวิตอย่างมั่นคงทางภายนอกแต่ไร้ความมั่นคงและความสุขภายในใจ

13

นอกจากนี้ในวรรณกรรมแปรรูปยังสะท้อนปัญหาที่ยากจะแก้ไขในสังคมไทยเช่น ปัญหาเด็กช่างกลตีกัน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ปัญหาคนชราถูกทอดทิ้ง เช่น ปู่ชิวที่ตกลงไปในบ่อน้ำร่วมสิบวัน และกลายมาเป็นเกมข้อ 7 ของภูชิตที่จะต้องช่วยปู่ชิวขึ้นมาและโทรศัพท์ไปเรียกญาติมารับศพ โดยที่ตัวภูชิตเองได้กล่าวกับเสียงพิธีกรเกมในโทรศัพท์ว่า “คุณรู้ว่าปู่ชิวตกบ่อน้ำไปตั้ง 10 วัน ทำไมคุณไม่มาช่วย”  แต่เสียงในสายกลับตอบมาอย่างเย็นชาว่า “มันไม่ใช่ธุระของเรา มันเป็นธุระของลูกหลานเขาไม่ใช่เหรอคะ”  ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เสียดสีมากจริงๆ  หรือแม้กระทั่งปัญหาขอทานที่เต็มบ้านเต็มเมือง ปัญหาแก็งค์มอเตอร์ไซน์กวนเมือง เป็นต้น โดยรวมแล้ววรรณกรรมแปรรูปได้รักษาแนวคิดสำคัญของเรื่องและได้ขยายออกไปมากมาย สำหรับแนวคิดย่อยมีการตัด ทอน เปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ก็เพื่อการถ่ายทอดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นัยยะหรือสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในเรื่อง เล่นกับเรื่องก็มีมากขึ้น เนื้อหามีการเน้นย้ำให้เห็นสภาพสังคมปัจจุบันผ่านตัวละครที่ถ่ายทอดมาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่สิ่งที่อยู่รอบตัวตัวละครหลักเพียงเท่านั้น ยังมีมุมมองของคนรอบตัวอีกหลายคนที่สะท้อนเรื่องราวในสังคมได้อย่างน่าเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หรือการกระทำของเขาเหล่านั้น เรียกได้ว่าการแปรรูปจากวรรณกรรมต้นฉบับมาสู่ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จมากทีเดียว เนื่องจากสามารถรักษาความคิดรวบยอดหรือแก่นสำคัญของเรื่องไว้ได้ นอกจากนี้ยังนำแนวคิดมาขยายต่อจนกระทั่งเข้าถึงใจผู้ชมเป็นวงกว้างและดึงให้เราหลงเข้าไปในมายาคติอันสมบูรณ์อย่างไม่รู้ตัวเลย

ยุคสมัยและอุตสาหกรรมการผลิตสื่อมีผลต่อการแปรรูปวรรณกรรมมากทีเดียว เพราะปัจจุบัน
การผลิตสื่อมักจะคำนึงถึงผู้เสพเป็นหลักว่าอยู่ในกลุ่มกระแสหลักหรือไม่ ผู้เสพอยู่ในวัยใด เพศใดและเขาเหล่านั้นมีความสนใจในสิ่งใด หากเราทราบว่าผู้เสพต้องการอะไร ก็จะสนองความต้องการได้อย่างดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำนักแสดงชื่อดังที่อยู่ในกระแสนิยมมารับบทนำในภาพยนตร์ ย่อมทำให้มีผู้สนใจมากขึ้น เพราะเมื่อมีนักแสดงที่ดี ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ถูกยกระดับขึ้นมาอีก อีกอย่างหนึ่งก็คือผู้กำกับและนักเขียนบทที่มีชื่อเสียง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งเราเลือกดูภาพยนตร์จากผู้กำกับเหมือนกัน เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องมักมีเอกลักษณ์ของผู้กำกับติดอยู่ถือเป็นลายเซ็นของเขา ดูอย่างหนังของ พิง ลำพระเพลิง ก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่สูงมากทีเดียว หรือภาพยนตร์ของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ก็จะมีแนวความคิดที่จัดจ้านและมีการหักมุมอย่างน่าสนใจ และยิ่งผลงานของผู้กำกับและนักเขียนบทนั้นมีทิศทางที่ดีมาโดยตลอดก็จะทำให้อำนาจการตัดสินใจโน้มเอียงไปทางนั้นเช่นกัน เรียกได้ว่านิสัยตัดสินหนังสือจากหน้าปกก็คงยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยเช่นเดิม อีกอย่างหนึ่งก็คือแผนการตลาด การโฆษณาและทุนในการสร้างภาพยนตร์หากมีจำนวนมากก็ทำให้ผู้เสพคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นควรค่าแก่การเข้าชมเพราะมีการลงทุนเยอะเป็นต้น